“ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว”
“บ้านหลังนี้มีหน้าที่รักษาจิตวิญญาณของเด็ก ไม่ใช่รักษากฎหมาย”
ด้วยเชื่อว่า “หากต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร จำเป็นต้องสร้างวาทกรรมของตัวเองขึ้นมาชุดหนึ่งและผลักดันมันอย่างเต็มที่”
ผู้หญิงที่ชื่อ ทิชา ณ นคร คนนี้ จึงมีบทพิสูจน์จากภาคปฏิบัติอันเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทกับ
‘การงานแห่งชีวิต’ อย่างเต็มที่มาโดยตลอด รางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน”
จาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับมาจึงเป็นดังประจักษ์พยานที่สังคมช่วยยืนยันให้กับเธอ
รวมไปถึงการเป็น 1 ใน 12 หญิงไทยซึ่งถูกเสนอชื่อในโครงการ “ผู้หญิง 1,000
คน เพื่อรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ.2548” ยิ่งยืนยันถึงความเป็นผู้หญิงที่ทำงานเพื่อสังคมตัวจริง
เป็นผู้หญิงแถวหน้า ที่ยืนหยัดเพื่อผู้อื่นได้อย่างสง่างาม
วันนี้ กับ อีกด้านหนึ่งของเธอในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก
บ้านหลังใหม่ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่มีแนวคิดว่า
บ้านกาญจนาภิเษก ไม่ใช่ ‘คุก’
เยาวชน ไม่ใช่ ‘นักโทษ’
เจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ ‘ผู้คุม’
แต่... บ้านกาญจนาภิเษก คือ ‘บ้านทดแทนชั่วคราว’ ของวัยรุ่นที่บังเอิญใช้ชีวิต
‘ผิดจังหวะ’ จนเป็นเหตุให้ต้องสูญเสีย ‘อิสรภาพชั่วคราว’
สำหรับบ้านกาญจนาภิเษก... ความรุนแรง อำนาจ และกฎเหล็ก ‘ไม่จำเป็น’
“ผู้ไถ่” ฉบับนี้จึงมาคุยกับ “ป้ามล” ของเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษก ให้คุณได้รู้จักว่า
‘สถานพินิจฯ’ แห่งแรกที่ไม่ใช่ ‘คุกเด็ก’ นั้นเป็นอย่างไร “ป้ามล” ทำงานกับเด็กๆ
อย่างไร และสะท้อนความเป็น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” ของเธอคนนี้
บ้านกาญจนาภิเษกเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ
ในความเป็นจริง สถานพินิจฯ ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495
ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้มีสถานพินิจฯ
เพื่อรองรับเด็กๆ ที่ทำความผิดแยกออกมาจากคุกผู้ใหญ่
ระหว่างที่ก่อตั้งสถานพินิจฯ ขึ้นมา 50 ปี จนถึงวันนี้ จากที่มีสถานพินิจฯ
ไม่กี่แห่งจนตอนนี้ 50 – 60 แห่ง แต่ก็ยังไม่ครบทุกแห่ง บนเส้นทาง 40 – 50
ปี กรมพินิจฯ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ก็เล็งเห็นว่า เด็กๆ
ที่เข้าสู่สถานพินิจฯ เยอะขึ้นและบางคนเวียนเข้าเวียนออกหลายรอบ
สุดท้ายของเขาก็ย้ายเข้าสู่คุกใหญ่ อันนี้เป็นปัญหาซ้ำอยู่
และที่สำคัญก็คือว่า
ประเด็นการพูดถึงเรื่องสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนเป็นกระแสที่สังคมไทยไม่อาจ
ต้านทานได้ หลายคนจึงพูดถึงสถานพินิจฯ ที่น่าจะมีอะไรที่แตกต่าง
หรือบ่งบอกการเคารพสิทธิมนุษยชน และมีประสบการณ์อีกชุดหนึ่งคือ
ประสบการณ์ของผู้พิพากษาศาลสมทบซึ่งเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีเด็กและพบว่า
มีเรื่องราวบางอย่างในสถานพินิจฯ ที่เขาห่วงใยเป็นพิเศษ
ผู้พิพากษาศาลสมทบซึ่งขณะนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจพอสมควร
ท่านก็เลยรวบรวมพลพรรคและรับบริจาค
จนถึงที่สุดก็สร้างบ้านกาญจนาภิเษกซึ่งมีสัดส่วนของความช่วยเหลือระหว่างผู้
พิพากษาศาลสมทบและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก
แต่ทีนี้บ้านคงไม่ใช่คำตอบหรอก เพราะว่าบ้านจะสร้างขึ้นทีหลังก็ได้ แต่คำตอบก็คือว่า
บ้านหลังนี้จะใช้กระบวนการแบบไหนจึงจะตอบโจทย์ของสิทธิเด็ก โดยเฉพาะเด็กซึ่งสังคมมองว่าเขาเป็นผู้กระทำ
ไม่ได้มองว่าจริงๆ เขาก็เป็นเหยื่อของสังคมเหมือนกัน สังคมมองว่าเด็กเป็นผู้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
จากภาพที่ทำให้ทุกคนมองว่าเด็กไม่เหมาะสมที่จะได้อะไรต่ออะไร ระบบตาต่อตาจึงเกิดขึ้น
พอมีคนมาคิดว่าบ้านหลังนี้จะจัดการแบบไหน จึงมีการพูดกันในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
ตัวดิฉันก็เลยเป็นตัวเลือกของการพูดคุยครั้งนั้น ได้ชวนไป ซึ่งพอได้ไปเห็นสถานที่แล้ว
เราก็รู้สึกสนใจ
เรื่องความสนใจต้องถอยหลังไปเมื่อปี 2543 ด้วย วันที่บ้านกรุณา**แตก
วันนั้นเป็นการจราจลใหญ่ของเด็กๆ บ้านกรุณา มีการพังบ้านเสียหาย ช่วงนั้นก็สนใจมาก
จริงๆ ถอยหลังไปกว่านั้นก็สนใจเรื่องของเด็กในสถานพินิจฯ อยู่เรื่อยๆ เวลามีการส่งสัญญาณจากเด็กๆ
ว่า ทางบ้านนั้นหนีออกมา ตัวเองก็คิดเป็นโจทย์อยู่ตลอดเวลาว่า มันมีอะไรเหรอ
ทำไมเด็กๆ ต้องหนี ทำไมเด็กๆ ร้อนขนาดนั้น ชีวิตในนั้นเป็นอย่างไร นั่นเป็นคำถาม
แล้วจะตัดเก็บข่าวไว้เรื่อยๆ ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ และในวันที่บ้านกรุณาแตก
ก็ยิ่งสนใจมากเพราะว่า สัญญาณนี้มันแดงชัดมากเลยนะ ไม่ใช่แค่หนี 3 คน 5 คน
อย่างที่เราเคยเก็บข่าวเอาไว้ และวันที่ 3 ของเหตุการณ์ ข่าวโทรทัศน์บอกว่า
เด็กประมาณ 25 คนของที่นั่นถูกจับได้และขณะนี้ส่งไปที่ทัณฑสถานวัยหนุ่ม คลองหก
ปทุมธานี เราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ตามไป ไปขอเยี่ยมเด็กๆ ซึ่งผู้อำนวยการเรือนจำ
เขาไม่รู้หรอกว่าเราเป็นใคร เราก็อธิบายไม่ได้ว่าเราไปเกี่ยวข้องอะไรกับเด็ก
25 คน ข่าวบอกว่า 25 คนนี้เป็นหัวโจกจำเป็นต้องย้ายมาที่นี่ - คุกผู้ใหญ่
พูดตอนแรกก็ไม่รู้เรื่อง ต่อรองกันอยู่เยอะ จนในที่สุดเขาก็ยอม คือ เราอ้างว่าเราเป็นประชาชนคนหนึ่งเสียภาษี
ถึงแม้เด็กจะไม่ใช่ลูกเราโดยตรง แต่เราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งคิดว่าช่วยอะไรเขาได้
เราอยากทำ เขาจึงเอาเด็ก 3 คนมาให้เยี่ยม เขาบอก 25 คน ไม่ไหว
พอได้เจอเด็ก
3 คน ซึ่งเด็กๆ เองเขาก็งงๆ เพราะเขาไม่ได้รู้จักเรา ก็บอกว่า ไม่รู้จักกันก็ไม่เป็นไร
แต่ป้ามาเพราะเห็นข่าวว่าพวกหนูต้องมาอยู่ในที่ของผู้ใหญ่เลยแวะมาเยี่ยม
ก็ให้เขาเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรในบ้านหลังนั้น หนูไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร
แล้วทำไมถึงย้ายมาอยู่ที่นี่ ที่เด็กบอกคือ เขาไม่ใช่เด็กที่บ้านกรุณา ยิ่งงงเข้าไปใหญ่
ผู้อำนวยการเรือนจำก็นั่งอยู่ เราจึงถามว่า แล้วหนูมาจากไหน เขาบอก ผมอยู่บ้านอุเบกขา**
รั้วติดๆ กัน ระหว่างเกิดเหตุพวกเขาเองก็รู้สึกสนใจว่า เพื่อนๆ ทำอะไรกัน
ส่วนผู้ใหญ่บ้านอุเบกขาคงห่วงว่าพวกเขาจะทำอะไรกัน
จึงถามว่ามีใครอยากจะคุยกับผู้ใหญ่ อธิบดี รัฐมนตรีไหม เขามากันเยอะแยะ
ถ้าอยากคุยจะพาไปพบ เข้าใจว่า
ผู้ใหญ่บ้านนี้คงต้องการลดอุณหภูมิของเหตุการณ์จึงแสดงความรู้สึกอย่างนี้
ต่อเด็ก และด้วยความที่เด็กคิดว่าผู้ใหญ่ให้โอกาส
เขาจึงยกมือขึ้นเพื่อจะขอพบรัฐมนตรี, อธิบดี,
ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มาเคลียร์ปัญหาที่บ้านกรุณา พอผู้นำโดยธรรมชาติ 25 คน
ยกมือ เขาจึงถูกกันออกมาจากเพื่อนเป็นร้อยๆ คน และถูกใส่กุญแจมือ
พร้อมถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแกนนำที่จะก่อความไม่สงบ ซึ่งจริงๆ
ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย เราก็หันไปถามผู้อำนวยการเรือนจำว่า
ถ้าอย่างนี้จะทำอย่างไรต่อ บางเสี้ยวของเหตุการณ์ มันมีข้อเท็จจริงแบบนี้
ท่านก็บอกกับเราว่า ผมมีหน้าที่รับ ไม่ได้มีหน้าที่ส่งคืน
ตกลงเด็กก็ต้องอยู่ที่นั่น คืนนั้นเราก็จากเด็กๆ มา พร้อมกับบอกเด็กว่า
เราจะพยายามแสวงหาความเป็นธรรมให้กับพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เลยกลับมาเขียนจดหมายถึงคุณสุทัศน์ เงินหมื่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (สมัยนั้น) ร่างให้ฟังว่า เด็ก 25
คนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ต้องสืบสวน สอบสวน และนำเด็กกลับไปอยู่ในที่ๆ
เหมาะสม
และในช่วงนั้นมีเวทีเกี่ยวกับเรื่องเด็กพวกนี้หลายครั้งว่า ทำไมบ้านถึงแตก
เกิดอะไรขึ้น ทางออกเป็นอย่างไร ตัวเองก็เข้าไปร่วมเกือบทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีเวทีที่ไหน
ผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้จึงเห็นว่าเราน่าจะมีส่วนในการตอบโจทย์นี้ด้วยมั๊ง
ด้วยความห่วงใยของเรา การแสดงตัวอย่างชัดเจนในที่สาธารณะ พอถึงช่วงที่บ้านหลังนี้สร้างเสร็จ
ก็เลยมีการทาบทามให้เข้าไปเป็นผู้อำนวยการ พอดีกับที่นี่เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ
เข้ามาว่า ถ้าจะมีสถานที่สักแห่งหนึ่งที่ดึงองค์กรพัฒนาเอกชนมาเป็นผู้อำนวยการ
สามารถทำได้จริงหรือเปล่า ที่นี่จึงถือว่าเป็นโครงการนำร่อง คือ ให้เอ็นจีโอเป็นผู้บริหาร
ทรัพยากรทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ชั่วคราว
ขณะนี้เขาเรียกว่า พนักงานของรัฐ งบประมาณก็เป็นของรัฐที่ให้มา
ผ่านกระบวนการคิดอย่างไร
จึงกลายมาเป็นบ้านที่ต่างจากสถานพินิจที่อื่นๆ
เมื่อมาอยู่ในบ้านหลังนี้
สิ่งแรกที่เราทำก็คือ สร้างวิธีคิดขึ้นมาใหม่ พยายามที่จะก้าวข้าม จริงๆ
วิธีคิดนี้ก็ไม่ได้ลอยๆ ไร้เหตุผล หรือไม่มีรากเหง้านะคะ คือ มีความเชื่อว่า
ถ้าเราไม่เคยลืมวันคืนแห่งการเป็นเด็กของเรา เราจะรู้ดีว่าช่วงเวลาของการเป็นวัยรุ่นเป็นช่วงที่ยากที่สุดของมนุษย์
ถ้าเอาพัฒนาการของมนุษย์มาวางเรียงกันเป็นแถวๆ ตั้งแต่แรกเกิด
เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อแม่ เป็นผู้สูงอายุ เราจะเห็นว่าไม่มีช่วงไหนยากเท่ากับการเป็นวัยรุ่น
ดังนั้น โอกาสที่เด็กวัยรุ่นจะเพลี่ยงพล้ำมีเยอะมาก และภายใต้สภาพสังคมที่แสวงประโยชน์
เอาเปรียบ มีพื้นที่ดีในสังคมให้เขาน้อย ระบบครอบครัวที่อ่อนแอลง เหล่านี้ล้วนแต่ซ้ำเติมสถานการณ์เด็กวัยรุ่นค่อนข้างมาก
ดังนั้น ถ้าเราไม่เคยลืมวันคืนแห่งความเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่นของเรา เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่เป็นความชั่วร้ายโดยกำเนิด
ไม่ใช่เป็นความรู้สึกที่เกาะติดตัวเขามาจากไหนไม่รู้ แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
ด้วยทั้งตัวเขาเองเป็นพื้นฐาน และการหล่อหลอมมาจากครอบครัว สังคม และอื่นๆ
ซึ่งพอคิดได้อย่างนี้เราก็ทำให้ความคิดนี้มันดัง มีเสียงของมัน เพื่อจะบอกเล่ากับคนทำงาน
โดยเฉพาะคนทำงานที่ใกล้ชิดกับเขาให้รู้ว่า ถ้าเรามีโอกาสต้องรับรองเด็กเหล่านี้
เราจะต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างไร เพื่อจะส่งเขาคืนกลับสู่พ่อแม่ ครอบครัว สังคม
และชุมชนต่อไป ก็เลยลุกขึ้นมาเขียนวาทกรรมของเราใหม่ว่า เด็กเหล่านี้ไม่ใช่นักโทษ
ไม่ใช่อาชญากร เราก็ไม่ใช่ผู้คุม บ้านหลังนี้ก็ไม่ใช่คุก พวกเขาเป็นแค่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ก้าวพลาด
ก้าวผิดจังหวะ บ้านหลังนี้คือ บ้านทดแทนชั่วคราวของเด็กวัยรุ่นที่ก้าวพลาด
และก้าวผิดจังหวะ
โดยวิธีคิดเหล่านี้ จะเห็นว่ายุทธวิธีทั้งหมดในบ้านนี้จะเปลี่ยน กิจกรรมต่างๆ
ก็พาพวกเขาออกไปสู่สังคมได้อย่างปกติ การใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ก็เหมือนเขาใช้กับโรงเรียนกับหอพัก
เพียงแต่เขาจะมีพื้นที่จำกัด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้จำกัดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเชื่อว่าการจับกุมคุมขัง
คือรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง ที่นี่พยายามจะไม่ใช้ความรุนแรงกับเขา แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเองต้องไม่ลืมก็คือว่า
เหตุผลที่ทำให้เขาต้องถูกจำกัดอิสรภาพ แม้ว่าจะเป็นเหตุผลที่เราเชื่อและเข้าใจเขาในระดับหนึ่ง
แต่เราก็ต้องคำนึงถึงความจริงด้วยว่า แม้ครึ่งหนึ่งของตัวเขาคือ ทำความผิด
แต่อีกครึ่งหนึ่งคือ ด้วยวุฒิภาวะที่น้อยของเขา ดังนั้นเราต้องหาจุดสมดุลให้เจอ
ไม่ใช่มาอยู่กับเราแล้ว เราให้แต่ความเห็นอกเห็นใจทั้งหมดจนกระทั่งไม่ทำอย่างอื่นเลย
ก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้น บ้านหลังนี้จึงพยายามหาจุดสมดุลให้ชัดที่สุด
และจุดสมดุลก็มาจากเขาเอง ว่าภายใต้การถูกจำกัดอิสรภาพระดับหนึ่งที่เขาไม่มีเท่าเด็กวัยรุ่นทั่วไป
มันมีอะไรบ้างที่เขารู้สึกว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดในบ้านหลังนี้
เราต้องใช้การมีส่วนร่วมของพวกเขาทั้งหมด กติกาทุกอันในบ้านหลังนี้ต้องมาจากพวกเขา
เราจะไม่กล้าหาญที่จะเขียนว่า หนึ่งสองสามคุณต้องทำอะไร แต่จะบอกไว้ว่า
การที่เราจะอยู่กันในบ้านหลังนี้เพื่อคุณจะได้สิ่งดีๆ กลับคืนไปในระหว่างที่ชีวิตคุณต้องมาเสียเวลาอยู่ในบ้านหลังนี้
คุณคิดว่าอะไรที่เราจะอยู่กันได้โดยเราไม่ล้ำเส้นคุณ คุณก็ไม่ล้ำเส้นเรา
เราคุยกับเด็กทุกขั้นตอนเลย อย่างเช่น เราจะมีโทรศัพท์ ธรรมดาบ้านทุกบ้านในสถานพินิจฯ
เขาไม่ให้เด็กใช้โทรศัพท์อยู่แล้ว แต่บ้านนี้จะขอโทรศัพท์สาธารณะมาให้ แต่ก่อนที่โทรศัพท์จะมา
เราจะมีการประชาพิจารณ์ก่อนว่า มีโทรศัพท์ดีไหม ข้อห่วงใยของผู้ใหญ่คืออะไร
สิ่งที่เด็กๆ คิดว่าจะนำไปสู่จุดประสงค์ที่ทุกฝ่ายพอใจ พอกติกากำหนดเรียบร้อย
โทรศัพท์มา ทุกอย่างก็ลงตัว เช่น จะโทรได้เฉพาะก่อน 9 โมงเช้า ตอนกลางวันเที่ยงถึงบ่ายโมงครึ่ง
ตอนกลางคืนต้องหลังเลิกงาน ระหว่างที่ทำกิจกรรมต้องไม่มีใครโทรศัพท์ ระหว่างนั้นทุกคนต้องเข้ากลุ่มกันตามปกติ
ทั้งหมดนี้มาจากเขา และเราก็พบว่า ไม่เห็นมีอะไรเสียหายเลย เขาเคารพกติกา
ไม่ต้องมาไล่ตามว่า อย่าโทรนะ ตอนนี้เป็นช่วงเรียนหนังสือ เป็นช่วงทำกิจกรรมนะ
ไม่มี คือทุกเรื่องรวมทั้งการแต่งตัวของเขาซึ่งเขาไม่อยากแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของสถานพินิจฯ
ที่ให้มาเป็นยูนิฟอร์มบ่งบอกว่า เขาเป็นใคร มาจากไหน ไม่แต่งก็ไม่แต่ง ที่นี่ก็แต่งตัวตามสบาย
มีปัญหาจากเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจติดกับขนบเดิมๆ
ที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจในฐานะผู้คุม บ้างไหม
เรา
เข้าไปในขณะที่เขามีเจ้าหน้าที่เต็มพิกัดแล้ว
เจ้าหน้าที่ย้ายมาจากบ้านกรุณา บ้านอุเบกขา เจ้าหน้าที่มารออยู่แล้ว
ซึ่งแน่นอน ตอนรอบแรกที่เราถูกทาบทาม ได้ไปศึกษาพื้นที่ แล้วตัดสินใจ
สิ่งที่เราบอกกับเขาก็คือ เราไม่เกี่ยงเรื่องเงินเดือน ลูกจ้างชั่วคราว
วุฒิปริญญาตรี 6,300 บาท ตอนนั้น เราไม่เกี่ยง
แต่เราเกี่ยงเรื่องเจ้าหน้าที่ เราไม่อยากได้ อยากเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ใหม่
ตอนที่ไปเก็บข้อมูลก็เห็นภาพนะคะว่า เด็กๆ ดูไม่มีความสุข
เรารู้ว่าการปฏิบัติแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของเด็กเหล่านี้ได้
และก็รู้ว่ายากด้วยที่จะขอให้เจ้าหน้าที่ไม่ทำในสิ่งเหล่านี้เพราะเขาไม่ได้
ทำเมื่อเดือนสองเดือน เขาทำมาหลายปี นั่นเป็นข้อต่อรองแรก
แต่เป็นข้อต่อรองที่เราไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง
เราก็ไม่อยากถอยด้วย
จึงเริ่มต้นด้วยการให้เขาลองเขียนความคิดของเขาให้เราอ่านตามหัวข้อที่กำหนด
ไว้ซึ่งโดยรวมๆ ก็คือ
ให้พูดถึงทรรศนะของเขาในการทำงานกับเด็กแบบนี้ว่าเขามีความคิดเห็นประการใด
ซึ่งผลตอบกลับมาจากเอกสาร จาก 55 คน เราก็สามารถแบ่งเขาออกได้เป็น
3 กลุ่ม คือ หนึ่งมีความรู้สึกที่ดีต่อเด็ก แต่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีผู้นำ ไม่มีความกล้า
แต่มีใจ ซึ่งเราเห็นว่ามีคนแบบนี้อยู่จริงแล้ว และก็มีคนที่แบบ...แล้วแต่สั่ง
ไม่มีความคิดอะไรเลย แล้วแต่สั่ง ผู้ใหญ่สั่งให้ทำอะไรก็พร้อมจะทำ กับอีกกลุ่มซึ่งมีความเชื่ออย่างแข็งแรงว่า
เด็กๆ เหล่านี้ต้องใช้ความรุนแรง ต้องใช้ความเข้มงวด ต้องใช้วินัยเหล็ก เพราะเขามาจากชีวิตที่ไร้ระเบียบวินัย
ดังนั้นสิ่งที่จะแก้เขาก็คือการอัดวินัยใส่ ซึ่งเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นกลุ่มที่ยาก
แต่ก็มีไม่มาก กลุ่มกลางๆ เยอะกว่า กลุ่มที่หนึ่งก็มีน้อย
พอเห็นเอกสาร ขั้นต่อไป เราสัมภาษณ์เขาทุกคนเพื่อที่จะพิสูจน์ว่า สิ่งที่เขาเขียนกับความคิดของเขาที่ดังๆ
ที่เราได้ยิน มันใช่ตรงกันหรือเปล่า ก็ทั้งยืนยันว่าจริงและต้องย้ายกลุ่ม
บางคนพอพูดแล้วเห็นปฏิกิริยาด้วยซ้ำ... ธรรมดาโดยระบบราชการเขาจะเคารพให้คุณค่ากับผู้ใหญ่
ผู้อาวุโส คือมีตำแหน่งหน้าที่การงาน เพราะโดยปกติบ้านแบบนี้จะต้องมีผู้อำนวยการระดับซี
8 ซึ่งเราเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ และก็มีการคาดการณ์ว่า คนนั้นคนนี้จะได้มา
ซึ่งตัวเรา เขาอาจจะไม่รู้ว่ามาจากไหน... นี่ก็เป็นขั้นที่สอง พอเห็นความคิดเขาเป็นเงาๆ
แล้ว เราจึงขออนุญาตจัดเวิร์คช็อปเรื่องสิทธิเด็ก 2 รุ่นๆ ละ 2 วัน ต่อกันเลย
อย่างจันทร์-อังคาร รุ่นหนึ่ง พุธ-พฤหัส เป็นรุ่นสอง ซึ่งเราก็เห็นอารมณ์คน
เห็นการรับได้ รับไม่ได้ เห็นคนที่แข็งมากๆ คนที่อ่อนโยน คนที่อินกับเรื่องราวของสิทธิเด็ก
คนที่แววตาเป็นประกายที่รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังได้ทำอะไรที่มีความสุข เราเริ่มมีแนวร่วมและเห็นคนที่แรงชัดขึ้น
การทำงานก็เริ่มจากตรงนั้น ช่วงปีแรกวุ่นวายกับเรื่องเจ้าหน้าที่เยอะมากเลยเพราะว่าเจ้าหน้าที่เขาอาจจะยังไม่ค่อยชิน
และที่สำคัญคือว่ากระบวนการในบ้านแบบนี้ที่ผ่านมาเด็กไม่ใช่ตัวละครที่สำคัญ
ดังนั้นเมื่อต้องพลิกบทใหม่เอาเด็กมาเป็นตัวละครที่สำคัญ เด็กไม่ใช่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา
แต่เด็กเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาไปพร้อมๆ กันกับเรา นั่นหมายถึงว่าทุกๆ
กิจกรรม ทุกเรื่องราวในบ้านหลังนี้ เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ
เราคิดว่ามีอะไรอยู่ในตัวเด็ก อยู่ในความคิดของเด็กเยอะ
เพราะฉะนั้นต้องตั้งเงื่อนไขจากสิ่งเหล่านั้นออกมาให้ได้
ซึ่งความไม่คุ้นชินนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก
แต่ภายใต้กระบวนการที่เราทำเวิร์คช็อปเรื่องสิทธิเด็กมันมีน้ำหนักอยู่อัน
ซึ่งเราใส่ไปเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์เลย คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของเด็ก
ซึ่งทำให้เขามองเห็นทิศทาง
เด็กในขณะนั้นมีจำนวนเท่าไร
มี
เด็กแค่ 30 คนเอง
เป็นเด็กที่เขาเอามาอยู่รอไว้ก่อนแล้วเพื่อที่จะย้ายเจ้าหน้าที่มา
ซึ่งก็น่าหนักใจแม้ว่าเด็กจะน้อย มีแค่ 2 บ้าน ยังมีการตีข้ามบ้านกัน
คือจริงๆ เด็กที่อยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกว่ามีแรงกดดัน มีการกดขี่
มีความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย
มีสถานการณ์ที่ปรับตัวไม่ได้ซึ่งเขาเข้าไม่ถึง
ทุกอย่างมันเป็นภาพที่เบลอมากในความคิดของเด็กนะคะ
มันไม่รู้ชะตากรรมข้างหน้า ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
เด็กเหล่านี้ก็จะหวาดระแวงทุกคน หวาดระแวงแม้กระทั่งคนที่นั่งข้างๆ
หวาดระแวงผู้ใหญ่
เพราะฉะนั้นความหวาดระแวงมันเป็นเหมือนเชื้อโรคร้ายซึ่งทำให้ทุกอย่างในทาง
ร้ายมันงอกงามและเติบโตในบ้านแบบนี้ เพราะฉะนั้นทางแก้ที่เราทำอยู่ก็คือ
ไม่ว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เราจะชี้แจง พูดคุย อธิบายทุกเรื่อง
ใช้เวลานานแค่ไหนจึงสามารถแก้ปัญหาภายในบ้านได้
จนถึงบัดนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่นะ
เพราะว่าจริงๆ เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งก็ฝังรากลึกในเรื่องการใช้อำนาจ เพียงแต่ว่าเขาเริ่มรู้สึกได้ว่า
ไม่ได้สร้างปัญหา คือเขาจะถอยมากกว่า ถ้าเมื่อก่อน ทันทีที่เห็นเด็กๆ ขวางหูขวางตาเขาจะเดินเข้าไปหาโดยอัตโนมัติ
แต่ตอนนี้เขาอาจจะโอเค ยืนดู แล้วมาพูดในที่ประชุม อาจจะใช้วิธีอื่นๆ แต่ถามว่าหมดหรือยัง
ล้างใจได้หมดหรือยัง อาจยังไม่หมด แต่รู้ว่าอดทนที่จะดูและแสวงหาคำตอบมากขึ้น
ซึ่งเพียงแค่นี้เราก็พอใจนะ อย่างน้อยเราต้องให้เวลาคนที่กำลังใฝ่รู้และอยากจะเรียนรู้
ก็ถือว่าเป็นปัญหาปกติขององค์กรตอนนี้ แต่ว่าสิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่มากกว่านั้นคือ
ความจริงอย่างหนึ่งของระบบในสถานพินิจฯ บอกเราว่า มันขาดการให้น้ำหนัก
ขาดการออกแบบมานานเหลือเกิน เช่น เด็กที่อยู่ในสถานพินิจฯ เขาอาจจะมาด้วยต้นทุนที่ไม่เท่ากัน
รวมทั้งสภาพครอบครัว ความรู้ ระดับชั้นเรียน การศึกษา แต่ว่าช่วงเวลาที่เขาอยู่ในบ้านหลังนี้
บางคนเป็นปีน่ะ ดังนั้นสิ่งที่บ้านแบบนี้จะปฏิเสธไม่ได้ คือ ต้องจัดระบบในบ้านหลังนี้เพื่อตอบสนองหรือเพิ่มต้นทุนให้กับเขา
ซึ่งในบ้านกาญจนาภิเษกได้ ออกแบบว่า เรามีองค์ประกอบใหญ่อยู่ 3 องค์ประกอบคือ
1.เรียนชีวิต คือ เด็กที่นี่ต้องวิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์ปัญหาสังคมโดยเฉพาะที่ใกล้ตัวเขา
ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย ข่าวที่สะท้อนความงดงามของคนบางคนเพื่อที่จะถามหาว่า
เรารู้สึกอย่างไร แล้วคนนั้นต่างจากเราตรงไหน ทำไมคนๆ หนึ่งอายุเท่าเราแต่เลือกจะใช้ชีวิตแบบนี้
เรารู้สึกอย่างไรกับวิธีเลือกของเขา แล้ว ลองบอกซิว่า ทำไมเราถึงเลือกแบบนี้
ช่วยกันคิด ช่วยกันตกผลึก ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า เรียนชีวิต
แล้วก็มีเรียนหนังสือ คือ เรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) แล้วก็มีเรียนอาชีพคือ
เรียนขับรถยนต์ เบเกอรี่ ผ้าบาติก กรอบรูปวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดในบ้านแบบนี้รวมทั้งบ้านอื่นด้วย
ซึ่งบ้านกาญจนาฯ ก็ติดร่างแหนี้ด้วยคือ ระบบ กศน. ในบ้านกาญจนาฯ ไม่ได้ลงทุนกับเด็กเลย
เจ้าหน้าที่ในนั้น ส่วนหนึ่งต้องทำงานกันเกือบตายนะ ขณะเดียวกันก็ต้องสอน
กศน. เด็กด้วย โดยที่รัฐเอาเนื้อหาต่างๆ ที่ระบบ กศน. เขาออกแบบไว้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องเป็นคนสอน
แล้วลองคิดถึงคนที่ไม่ได้ทำงานด้านวิชาการเลย แต่จำเป็นต้องมากางตำราสอนเด็ก
ถามว่าแล้วคุณจะทำให้เด็กงอกงามและเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน เราก็สงสัยอยู่ว่าทำไมถึงไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้กันเลย
สถานพินิจฯ ตั้งขึ้นมา 40 - 50 ปี ทำไมจึงไม่ลุกขึ้นมาบอกกับรัฐ กับฝ่ายที่บริหารจัดสรรงบประมาณ
เมื่อระบบแบบนี้ไม่ได้เพิ่มต้นทุนให้กับเด็ก แล้วทำให้เด็กที่อยู่ในบ้านแบบนี้เสียเวลาเกินไป
และถึงที่สุดสถานที่แบบนี้ก็ไม่สามารถขังเด็กไว้ได้ตลอดชีวิต ก็ต้องปล่อยเขาออกไปตามเงื่อนไขของศาล
คำถามคือว่าเด็กในวันนี้จะดีได้อย่างไร? การจะทำให้เด็กเหล่านี้ดีขึ้นได้ต้องมีหลายองค์ประกอบ
แต่ทุกองค์ประกอบมันถูกออกแบบอย่างไม่เอาใจใส่ ไม่ทุ่มเท แล้วพอมีปัญหาก็โทษว่าเด็กๆ
เหล่านี้ไม่รักดี แก้ปัญหาไม่ได้ ความทุ่มเทยังไม่เป็นจริงน่ะ นี่เป็นประเด็นที่ถูกพูดน้อยมากและเราก็อยากจะพูด
ถ้าคุณอยากเปลี่ยนความคิดของเด็กเหล่านี้ ระบบการศึกษาในสถานพินิจฯ ต้องเปลี่ยน
เรายังทำเรื่องนี้อยู่นะ
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่บ้านกาญจนาภิเษกต้องทำก็คือว่า
ถ้าเด็กคนไหนมีความพร้อมที่จะไปเรียนข้างนอก เช่น
การอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก เขาอยู่อย่างร่วมมือเต็มที่เลย
โดยเฉพาะได้ขึ้นบ้านชนะใจ ชัยชนะที่ยั่งยืน ซึ่งเราทำบ้านเป็น 2 แบบคือ
บ้านทั่วๆ ไป มีที่ปรึกษาประจำบ้านที่เป็นผู้ใหญ่ ยังจะต้องมีคะแนน 100
คะแนนให้กับเขา ถ้าเขาทำอะไรชำรุด บกพร่องไป
คะแนนของเขาจะถูกหักออกไปเรื่อยๆ ถ้าต่ำกว่า 60 คะแนน
สิ้นเดือนนั้นเขาจะไม่ได้กลับบ้าน ถ้าคะแนนไม่หายไปเลยหรือไม่ต่ำกว่า 60
เขาจะได้กลับบ้าน 3 วัน วันศุกร์สิ้นเดือนแล้วกลับมาวันจันทร์เช้าก่อน 9
โมง ซึ่งเด็กทุกคนทำได้ และจะมีบ้านอีกแบบคือ บ้านชนะใจ ไม่มีเวลาขึ้นบ้าน
ชนะใจแล้ว ควบคุมตัวเองได้แล้ว ก็ไม่มีมนุษย์หน้าไหนไปควบคุมเขา
เด็กเหล่านี้จะได้กลับบ้านทุกอาทิตย์ ตอนเปิดเทอมที่ผ่านมา
เราเสนอทางเลือกเพิ่มให้กับเขาว่า เด็กกลุ่มบ้านชนะใจ ถ้าครอบครัวพร้อม
ตัวเขาพร้อม สถานศึกษาพร้อม เขาจะเรียนหนังสือข้างนอกได้ ซึ่งขณะนี้มีเด็ก
20 คน ไปเรียนหนังสือข้างนอก เรียนมหาวิทยาลัย
เขาจะบอกหรือไม่บอกที่นั่นเราไม่รู้แต่เขาได้เดินออกไปจากบ้านกาญจนาภิเษก
เพื่อไปเรียน นี่เป็นอันหนึ่ง ถ้าถามว่าผิดกฎหมายไหม ผิด
เพราะศาลไม่ได้อนุญาตให้เด็กออกไปเรียนหนังสือข้างนอก แต่ถ้าระบบการศึกษาในบ้านยังเป็นแบบนี้ ถามว่าเราจะเก็บเด็กเหล่านี้ไว้ทำไม
ถึงวันหนึ่งเด็กเหล่านี้ก็ต้องออกไปสู่สังคมข้างนอก การที่เราพยายามให้ช่วงเวลานี้ของเขาสมบูรณ์ขึ้น
เท่ากับการเดินทางกลับสู่สังคมของเขามีประสิทธิภาพขึ้น
ที่นี่ถึงบอกว่า บางเรื่องเราอาจจะถูกมองว่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่เราอยากจะขอความเป็นธรรมให้กับตัวเราเองด้วย
เป็นกำลังใจให้กับเราเองในฐานะคนทำงาน และอยากขอความเป็นธรรมให้กับเด็กๆ
เหล่านี้ด้วย ถ้าหากคุณเชื่อว่าวันคืนแห่งความเป็นเด็กและการเป็นวัยรุ่น
เป็นช่วงที่ยากที่สุดของมนุษย์ เมื่อเขาก้าวพลาดและก้าวผิดอย่างไร และเราเห็นสมควรแก่เวลาแล้ว
เราจะต้องประคับประคองเขาให้เดินกลับสู่สังคม บางทีเส้นของกฎหมายอาจยังไม่ถึง
แต่เส้นแห่งพฤติกรรมมันถึงแล้ว และเราก็อยากให้มีทางเลือกที่ดีแก่พวกเขา
ในบ้านกาญจนาภิเษก
จะเห็นว่าเน้นการให้เด็กๆ เขียนระบาย ทำไมถึงให้ความสำคัญกับการเขียน
จริงๆ
ไม่ใช่การระบายหรอกนะ การระบายเป็นแค่หนึ่งในหลายๆ วัตถุประสงค์มากกว่า ความจริงคือว่า
เด็กๆ ที่เข้ามาอยู่ในบ้านแบบนี้ เขาไม่ได้เป็นคนเลวสนิท แต่การหล่อหลอมทางสังคมของเขาอาจจะไม่เข้มแข็งพอ
ทำให้ระบบคิดบางอย่างที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น อยากมีเซ็กส์ มีความรู้สึกทางเพศ
ก็ไปบังคับ ข่มขืนเขา อยากมีโทรศัพท์มือถือไม่มีเงินซื้อ ก็ไปตีหัวเขา ไปขโมยจากเขา
ซึ่งเราคิดว่าจริงๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นความเลวร้าย แต่เป็นวิธีคิดที่ชำรุดบกพร่อง
เพราะฉะนั้นการเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ คือ จะต้องทำให้ระบบคิดแบบนี้มันถูกต้องและแข็งแรง
ซึ่งมีหลายวิธี เมื่อเราอยู่กับเด็กวัยรุ่น เราก็เลือกวิธีที่ไม่ทำให้เด็กวัยรุ่นรู้สึกน่ารำคาญใจ
เช่น เรียกมานั่งสอนและอบรม เราเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น แต่การที่ให้เขามองผ่านคนอื่นๆ
เช่น วันหนึ่งเราได้ข่าวเด็กผู้ชายคนหนึ่งไปปล้นโทรศัพท์มือถือ
เราก็เอาข่าวนี้มาให้เขาศึกษา จริงๆ เขาก็เคยทำ แต่เราไม่เรียกมาสอน
และทำให้เขารู้สึกต้อยต่ำและอับอายจากการสอนของเรา
แต่เราจะให้เขาดูข่าวนี้และถามว่านางสาวคนนี้ที่ถูกปล้นโทรศัพท์มือถือมี
ความยุ่งยากใจอะไรในชีวิตบ้างหลังจากถูกปล้นโทรศัพท์
ซึ่งเขาไม่เคยคิดมาก่อน
ก็เริ่มคิดว่าคนถูกปล้นโทรศัพท์มือถือต้องเสียหายอะไรบ้าง ต้องไปแจ้งความ
ต้องหาเงินซื้อโทรศัพท์ใหม่ อาจจะต้องทะเลาะกับแฟน อาจจะรู้สึกหวาดกลัว
เขาก็เล่าออกมาหลายข้อมากเลย หลายคนคิดได้ละเอียดเลย
ถามเขาว่าถ้ามีใครรู้ว่าผู้ที่ถูกปล้นโทรศัพท์ก็อยู่ในบ้านของเรา
บ้านซึ่งทำให้เด็กๆ วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กนักเรียนปกติ
ไม่เหมือนคนที่ไปรังแกเขามา
คิดว่าเขาคิดถูกหรือคิดผิดที่รู้สึกว่าไปปล้นเขามาแล้วมาอยู่สุขสบายได้
อย่างไร น่าจะรู้นะว่าคนที่ทำความผิดแบบนี้อาจจะคิดชั่ววูบ
การมาอยู่ในบ้านดีๆ
แบบนี้อาจทำให้เขารู้สึกละอายใจและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
ทั้งหมดนั้นคือวิธีปฏิบัติต่อชีวิตเขานั่นแหละ
ว่าการที่เขาได้อยู่ในบ้านดีๆ แบบนี้ภายใต้การไปรังแกเขามา
มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่เขาก็มีภารกิจต่อคนอื่นด้วยนะ
แต่แน่นอน เราไม่ได้เรียกเขามาบอก “มึงหัดจำใส่กะโหลกหัวไว้บ้างนะ การที่มึงได้มาอยู่ในบ้านอย่างนี้
มึงได้เปรียบคนอื่นแค่ไหน มึงจะต้องชดใช้ตอบแทนนะ” ...งี่เง่านะ ทำแบบนี้
ใช่ไหมคะ แต่ว่ามันก็ต้องผ่านกระบวนการออกแบบมาอย่างดีและเขาก็เดินเข้าไปในกิจกรรมนี้ทุกวันๆ
จนระบบคิดของเขาแข็งแรงพอ
ตอนนี้เด็กที่ผ่านออกไปจากบ้านหลังนี้มีกี่คนแล้วคะ
เราเริ่มทำงานเต็มกระบวนการจริงๆ
น่าจะซักปี 2548 ด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้ก็สู้รบปรบมือกับเจ้าหน้าที่อยู่ และเด็กๆ
ในรุ่นแรกๆ ก็เติบโตมาด้วยความหวาดระแวงในบ้านแบบนี้ หวาดระแวงกันเอง หวาดระแวงเจ้าหน้าที่
ดังนั้นระบบตรงนั้นเป็นช่วงของการก่อรูปเสาเข็มกว่าจะขึ้นโครง มันนับไม่ได้เลยน่ะ
ในช่วงแรกๆ แต่ว่าระบบเริ่มเซ็ทจริงๆ อย่างค่อนข้างเป็นเรื่องเป็นราวก็ต้นปี
48 ซึ่งจากตรงนั้นมาถึงตรงนี้ ยังไม่มีเด็กออกไป ถ้าเรานับปี 48 เป็นช่วงของการลงกิจกรรมตามที่วาดหวังไว้ว่าจะตอบโจทย์ได้
แต่ก่อนหน้านั้นช่วงปี 47 ทั้งปี มันเหมือนกับเป็นช่วงที่ทั้งเราและเด็กต่างก็เรียนรู้
เป็นช่วงที่เขาช่วยเราสร้างกิจกรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย คือภารกิจสำคัญก็คือว่า
กำลังเอาสิ่งก่อสร้างมาลง แต่ยังไม่ได้สร้าง
ป้ามลมีเวลาให้กับเด็กๆ
มากน้อยแค่ไหนคะ
ทั้งชีวิต
ก็นอนอยู่ที่นั่น กินอยู่ที่นั่น เขาอยากมาหาตอนไหนก็ได้ อย่างเมื่อคืนที่แล้วมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งขึ้นมาคุยด้วยตอน
3 ทุ่ม เขามีแฟน และแฟนกำลังจะเลี้ยว คือ แฟนกำลังจะไปมีแฟนใหม่ สำหรับเด็กอายุ
19 – 20 ปี เป็นเรื่องกลุ้มใจมาก..กๆ (ลากเสียงยาว) ถึงมากที่สุด เขาเข้ามาคุยกับเรา
ก็ชวนเขาคุย ชวนให้เขาคิดให้ไกลๆ ซึ่งก็ทำให้เขาเห็นอะไรที่กว้างขึ้นกว่าที่เขาจะปรึกษาหารือกับเพื่อนวัยเดียวกัน
ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เมื่อเขาเลือกที่จะมาปรึกษาเรา
เขาก็ได้เห็นมุมที่กว้างขึ้น และทำให้เขามีการตัดสินใจที่ดีขึ้น พอรุ่งเช้าเราก็เล่าให้เพื่อนๆ
เขาฟัง นั่งคุยกับเด็ก 100 กว่าคน จะมีช่วงของการพบป้ามล เราก็จะเล่าให้ฟังว่า
“เมื่อคืนมีหนุ่มน้อยขึ้นมาคุยกับป้าตอน 3 ทุ่ม ป้าไม่บอกว่าเป็นใคร
แต่ที่ป้าเล่าให้ฟัง ก็คือว่า ป้าขอบคุณที่เลือกเอาเรื่องพวกนี้มาปรึกษาป้าแทนที่จะไปตัดสินใจก่อนปรึกษาผู้ใหญ่
แล้วป้าก็อยากให้ทุกคนสบายใจที่จะเดินมาหา ไม่ว่าป้าหรือผู้ใหญ่คนไหนก็ตามในบ้านหลังนี้”
โดยเฉพาะปัญหาบางปัญหาที่ผู้ใหญ่อย่างเรามีประสบการณ์และพยายามจะเข้าใจเด็กวัยรุ่นอยู่แล้ว
ดังนั้นจึงอยากให้เขารู้ว่า การเดินเข้ามาปรึกษาผู้ใหญ่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนการตัดสินใจ
เราเล่าให้เพื่อนๆ ฟังเพื่อให้เด็กคนอื่นที่ยังมีอะไรอยู่ในใจและยังไม่รู้จะปรึกษาใคร
รู้ว่าเขามีทางเลือก และเราก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้เปิดเอาไว้
อะไรเป็นแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจให้พี่มุ่งทำงานเพื่อสิทธิของเด็กและสิทธิของผู้หญิง
เป็นเรื่องปกติ เราทำงาน โตมาในบรรยากาศที่ได้มีส่วนรับรู้เห็น เราไม่ได้ทำงานขังตัวเองอยู่ในออฟฟิศ
ไม่ได้เติบโตมาในบ้านที่มีเราคนเดียว เราเดินออกมาสู่สังคม ระหว่างทางที่เดินมานั้นได้เห็นเรื่องราวมากมาย
มันทำให้เราต้องขบคิด เมื่อคิดไปคิดมาเราก็มองเห็นว่าจริงๆ แม้แต่คนที่คิดต่างจากเรา
คนที่รู้สึกว่าเรากับเขาเป็นศัตรูกัน แต่เราก็เชื่อว่าคนทุกคน บางเรื่องที่ทำไปเพราะไม่รู้
ทำไปด้วยกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม ด้วยวัฒนธรรมของสังคมซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่มาก
ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างทำให้เราคิดว่า ถ้ามีตรงส่วนใดบ้างที่สามารถทำให้ระบบคิดของคนเปลี่ยนแปลงได้
ก็น่าจะดีนะ ซึ่งตรงนี้ก็นำไปสู่การทำงานทั้งในเชิงรณรงค์และในเชิงปฏิบัติ
คือถ้าเราปฏิบัติโดยไม่รณรงค์ ไม่ลุกขึ้นมาพูดอะไรบ้าง มันก็จมอยู่กับปัญหา
ไม่ได้ตีฆ้องร้องป่าว หรือถ้าเรารณรงค์โดยไม่ได้ปฏิบัติ บางทีประเด็นมันก็ไม่แหลมคม
ถ้าเรามีโอกาสอยู่ใน 2 จุด ก็น่าจะเป็นจังหวะที่ดีของชีวิตน่ะ
และที่สำคัญก็คือว่า ถ้าย้อนกลับไปดูโดยส่วนตัว เราก็เติบโตมาจาก... คือ
ครอบครัวของตัวเองอยู่ในต่างจังหวัดที่ห่างไกล พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านมีโอกาสเจอคนเยอะ
และเราก็พบว่า ความหลากหลายของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมันน่าสนใจนะ อย่างพ่อเนี่ยะ
เวลาพ่อเขานั่งคุยกับคน คือตอนนั้นตัวเองก็ยังเล็กมาก แต่รู้ว่าคนเยอะไปหมดเลยที่แวดล้อมชีวิตเรา
หรือขณะเดียวกันเวลาเราไปไหนมาไหนกับแม่ ได้เห็นว่าวิธีอะไรของแม่มันหลงๆ
มา จนกระทั่งเราโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็ได้เห็นว่า เออ.. แม่เรานี่ทำอะไรเยอะนะ
มันเหมือนซึมซับ อาจจะมีภาพนี้อยู่บ้างเหมือนกัน เวลามีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้าน
แม่จะต้องไปให้ศีลให้พร เพราะแม่เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้เฒ่า เราก็ตามไปยืนดู
ก็ได้ยินคำให้ศีลให้พรของแม่กับเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้าน เช่น อยู่เย็นเป็นสุขนะ
เป็นพ่อเป็นแม่เลี้ยงลูกให้ดีนะ อย่าใช้วาจาหยาบคายกับลูกนะ อย่าด่าทอลูกนะ
วาจาของพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์นะ พ่อแม่พูดอะไร ลูกจะเป็นอย่างนั้นนะ คำพวกนี้ได้ยินจนชินมากเลย
แต่ยังไม่รู้อะไรหรอก พอวันหนึ่งมาเรียนหนังสือ เรียนจิตวิทยา เออ
ก็มีตำราหลายเล่มบอกไว้ว่า มนุษย์จะแสดงพฤติกรรมตามการรับรู้ ถ้ามนุษย์รับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า
พฤติกรรมที่ออกมาก็จะสะท้อนการรับรู้นั้น ถ้ามนุษย์รับรู้ว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี
เป็นคนเลว เป็นคนไม่เก่ง เป็นคนโง่ พฤติกรรมก็จะสอดคล้องกัน มันเหมือนกับที่แม่เราสอนเลย
แม่เราก็อ่านหนังสือไม่ออกนะ เป็นแค่หญิงชาวบ้านอยู่ไกลปืนเที่ยงมากเลย แต่เพราะมีแง่มุมแบบนี้ทำให้รู้สึกว่า
ของพวกนี้มันก่อรูปทำให้เรามีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำมากขึ้น มีความรู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตของตัวเอง
พอได้มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ มาอยู่ในบ้านของญาติห่างๆ ซึ่งเขาเป็นจิตแพทย์
อยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา ก็มีโอกาสซึมซับรับงานของเขา ได้มีโอกาสเจอคนไข้ ไปไหนมาไหนกับเขา
ที่สำคัญคือ บังคับให้อ่านหนังสือหลายๆ เล่มที่ตัวเองไม่เคยอ่านมาก่อน ซึ่งตอนนั้นรังเกียจวิธีนี้มากเลย
บัดนี้ก็ยังรังเกียจวิธีนะ แต่ว่ารับในเป้าหมายได้ เพราะฉะนั้นเวลาตัวเองมาทำงานก็พยายามปรับวิธีการหมดเลย
คือทำอย่างไรให้วิธีการน่าสนใจ ตัวเองได้อะไรเยอะจากพี่ที่เป็นจิตแพทย์ที่อยู่ด้วย
เช่น วันหนึ่งมาบังคับให้ไปงานศพของโกมล คีมทอง อยู่ๆ มาบอกว่า เย็นนี้ไปงานศพของโกมล
คีมทองนะ ต้องแต่งตัวอย่างนี้ๆ ไปดูหนังเรื่องด็อกเตอร์ชิวาโกนะ ต้องแต่งตัวอย่างนี้ๆ...
เอ๊ย! อะไร ทำไมต้องมาบอกให้ไปนั่น มาบอกให้ไปนี่ ก็ไปนะด้วยความรู้สึกที่ต่อต้านตลอด
เพราะตอนนั้นเราเป็นวัยรุ่น ซึ่งพอมาถึงบัดนี้ เรารู้ว่า เราได้กลิ่นอาย
ซึมซับสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่ชอบวิธีการ เพราะฉะนั้นพอมาอยู่กับเด็กวัยรุ่น
ทำงานกับวัยรุ่น เวลาเรารู้ว่าอะไรที่มีเป้าหมายที่สวยงามดีมาก เราจำได้ว่าเราไม่ชอบวิธีการ
เราก็ไม่เอาวิธีการนั้นมา วิธีการนั้นเปลี่ยนใหม่หมดเลย แม้จะรู้ว่าเป้าหมายดีอย่างไรก็ตาม
แต่ถ้าวิธีการไม่ดี กระบวนการไม่ดี เป้าหมายก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ หรือประสบผลสำเร็จก็ยากมาก
อย่างเรา ถามว่าเราได้ไหม ก็ได้ แต่ในขณะนั้นรู้สึกว่า ถ้ามีทางเลือกอื่น
เราจะเลือกนะ แต่พอดีช่วงปี พ.ศ.นั้น ตอนที่เราเป็นวัยรุ่นทางเลือกมันมีน้อย
แล้วทำไมถึงเลือกทำงานประเด็นผู้หญิง
ก็ไม่ได้เลือกอะไรหรอกนะ
แต่รู้สึกว่ามันเห็นน่ะ มีข้อมูลเชิงประจักษ์ผ่านมาให้เห็นว่า มีความไม่เท่าเทียม
ไม่เสมอภาค มีการเลือกปฏิบัติ เราสัมผัสได้ด้วยตัวของเราเองในกระบวนการทางกฎหมาย
ในหนังสือที่เขียนเอาไว้ ในการตัดสินใจต่างๆ นานา เมื่อเห็นอย่างนั้น เราก็ลุกขึ้นมาพูดมาเขียน
ก็เท่านั้นเอง
ตอนทำงานที่สหทัยมูลนิธิ
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
เราเห็นภาพชัดน่ะว่าเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมซึ่งมาที่สหทัยฯ
เป็นภาพด้านหนึ่งของการมองผู้หญิงโดยการตัดสินและไม่ให้โอกาส ทั้งๆ
ที่การตั้งท้องโดยไม่พร้อมของผู้หญิงทุกเคส มาจากความร่วมมือกันของคนสองคน
แต่ถึงที่สุดคนที่ถูกตัดสินอย่างไม่ให้อภัยเลยก็คือผู้หญิง ทั้งๆ
ที่ท้องนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง ไม่มีผู้หญิงคนไหนท้องได้เอง แต่ถึงที่สุดเมื่อผู้ชายคนนั้นไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ
สังคมไทยก็ยังไม่มีสติปัญญาพอที่จะตั้งคำถามกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่รับผิดชอบของผู้ชาย
กลับมาตั้งคำถามกับผู้หญิงอยู่ฝ่ายเดียวว่าไม่รักนวลสงวนตัว ทำในสิ่งที่อัปยศอดสูต่อตนเอง
ต่อครอบครัว ต่อตระกูล ซึ่งทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้ามัวงมคิดอยู่อย่างนี้แล้วชาติไหนจะตอบโจทย์นี้ได้
ถ้ายังพูดเรื่องการรักนวลสงวนตัว โดยไม่พูดเรื่องการฟันแล้วทิ้ง การไม่รู้สึกอับอายกับการทำให้ผู้หญิงท้อง
มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ใช่
ไหมคะ นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ เลยว่า เราไม่หาจุดสมดุลของปรากฏการณ์ทางสังคม
แล้วก็มาซ้ำเติมคนที่อยู่ในปัญหา ผู้หญิงจำนวนมากฆ่าตัวตาย ทิ้งลูก
ด้วยเหตุผลที่เมื่อเกิดปัญหาแล้วรู้สึกว่าตัวเองถูกซ้ำเติม ไม่มีที่อยู่
ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง จึงเลือกที่จะใช้วิธีที่ช็อคสังคม
แต่สังคมก็ยังไม่หาคำอธิบายสักทีว่า
นอกเหนือจากการสอนให้รักนวลสงวนตัวแล้ว คุณจะทำอย่างอื่นได้มากกว่านี้ไหม
นี่เป็นประเด็นที่ต้องพูดกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ธรรมดาที่สุดแล้ว
ไม่ได้ต้องการนวัตกรรมอะไรมาช่วยเลย เพียงแค่คุณต้องส่องไฟไปที่ผู้ชายบ้างคือ ไม่ใช่ไปด่าเขานะ แต่ว่าถ้าเรามีลูกมีหลาน
ก็ต้องบอกให้ลูกเรารู้ว่า การที่เราได้เปรียบทางเพศมาสักครั้งหนึ่งของชีวิต
ไม่ใช่มงคลของชีวิตนะลูก แต่มันเป็นความอัปยศ เหมือนๆ กับที่เรารู้สึกว่า
ถ้าผู้หญิงหนึ่งคนอยู่ในภาวะอย่างนี้ แล้วเรามีคำอธิบายให้เขาเยอะ แต่เราไม่เคยมีคำอธิบายถ้าลูกชายเราไปทำแบบนั้น
จนกลายเป็นความเคยชินที่จะพูดว่า อู๊ย! มีลูกชายดีจัง ไม่ต้องเป็นห่วง อ้าว!
คุณไม่ห่วงหรือ เวลาลูกชายคุณไปทำคนอื่นท้อง ใช่ไหมคะ แต่คุณห่วงที่คนอื่นมาทำให้ลูกคุณท้องแล้วคุณรู้สึกอับอาย
แต่เวลาคุณมีลูกชายคุณกลับไม่นึกห่วงที่ลูกชายคุณจะไปทำให้คนอื่นเสียหายและอัปยศอดสู
ทำงานมานานเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
การเปลี่ยนแปลงเยอะแยะไปหมดเลย
เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ใช่การปฏิวัติที่จะได้รัฐบาลใหม่มาชั่ว
ข้ามคืน เราได้เห็นวิธีคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคม
แต่บางเรื่องเราก็ต้องยอมรับว่ามันต้องช้าอยู่แล้ว มันเป็นการหล่อหลอม
เป็นวัฒนธรรมของเรา การเปลี่ยนมิติทางวัฒนธรรมไม่ใช่ง่ายๆ
ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางเรื่องเวลาพูดคนฟังรู้เรื่องเร็วขึ้น
หัวเราะเยาะน้อยลง แววตาที่สงสัยก็นับจำนวนคู่ได้
ซึ่งเมื่อก่อนเชื่อว่าคนรุ่นก่อนเราที่ทำเรื่องนี้อาจจะบาดเจ็บกันไปเยอะ
แล้ว แต่มาในปี พ.ศ.นี้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราพูดต่อจากคนรุ่นเก่า
มันได้รับการยอมรับมากขึ้น
อะไรเป็นความภูมิใจในชีวิตของพี่
ภูมิใจทุกเรื่อง แม้แต่การคุยกับเด็กหนุ่มคนเมื่อคืนที่เขาบอกว่าเขากำลังอกหัก
ก็ภูมิใจ ทำงานมาขนาดนี้ก็ภูมิใจไปหมดแหละ ความภูมิใจไม่ได้อยู่ที่รางวัล
ไม่ได้อยู่ที่สถานภาพอะไรหรอก ภูมิใจที่เมื่อเรานั่งอยู่ข้างหน้าเด็กคนหนึ่ง
เขารู้สึกว่าเขาได้คำตอบจากเรา หรือเขารู้สึกมีความมั่นใจที่จะเดินออกไป
และมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง เท่านั้นแหละ
สองวันติดกันจะตายแล้ว