ชื่อกระทู้: ฮิพฮอพครองโลก [พิมพ์หน้านี้]
โดย: monkeyking_420 เวลา: 12-5-2008 22:03 ชื่อกระทู้: ฮิพฮอพครองโลก
ฝันร้ายของผมก็คือ ลูกสาวพาหนุ่มคนหนึ่งกลับบ้าน และบอกว่า "พ่อคะ เราจะแต่งงานกัน" เจ้าหนุ่มคนนั้นเป็นแร็ปเปอร์ที่มีผ้าโพกศีรษะ ฟันทองเต็มปาก กล้ามแขนเป็นมัด และท่าทางราวกับกุ๊ยข้างถนน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ผมก็ได้ยินเสียงฝีเท้าเล็กๆ ลูกพวกเขาเดินเตาะแตะไปทั่วห้องนั่งเล่น และเข้ามาในชีวิตผม ชวนให้ผมหวนนึกถึงความเป็นคนปากว่าตาขยิบของตัวเอง เพราะสมัยวัยรุ่น ผมก็เป็นเด็กโง่ที่ชอบฟังเพลงตามสมัยนิยม ผมฝันร้ายถึงไอ้หมอนี่เพราะเขาเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตนของผมในวันวาน การได้รู้จักเขาทำให้ผมตระหนักว่า เพลงแร็ปที่ดูไร้ท่วงทำนอง ความไพเราะ ดนตรี เนื้อร้อง หรือเอกภาพใดๆ กำลังครองโลก เพลงที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ท่อนกลาง หรือท่อนจบ ซึ่งดูไม่เหมือนดนตรีเอาเสียเลย กำลังครองโลก โลกนี้ไม่ใช่ของผมอีกต่อไป แต่เป็นโลกของเขา ถึงกระนั้นผมก็ต้องอยู่บนโลกใบนี้ โลกของฮิปฮอป
ทำหูทวนลม
ผมยังจำครั้งแรกที่ได้ยินเพลงแร็ปได้ ตอนนั้นเป็นปี 1980 ผมยืนอยู่ในครัวที่งานปาร์ตี้ในฮาร์เลม ตอนที่บิล เพื่อนผู้หุนหันพลันแล่นของผม เกิดฟิวส์ขาด ตบหน้าชายแปลกหน้าคนหนึ่งต่อหน้าต่อตาผม ผมจำสาเหตุไม่ได้แล้ว แต่ปัญหาก็คือ คู่กรณีของเขาเป็นชายร่างยักษ์ โพกผ้าแบบเด็กแร็ป มีพวกมาด้วยสามคน ดูจากสีหน้าเดือดดาลของพวกเขา รับรองว่าเราไม่มีทางเจรจาอย่างสันติวิธีแบบมาร์ติน ลูเทอร์ คิง ได้แน่นอน
ไม่มีคนผิวขาวอยู่ในห้องสักคน ซึ่งผมสารภาพว่าอยากให้มีจริงๆ เผื่อจะเอาหน้าที่ปราศจากสีเลือดไปซ่อนได้บ้าง ทุกคนในงานถ้าไม่ผิวสีก็เป็นชาวละตินที่กำลังจะจบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เราร่ำเรียนเรื่องการรายงานข่าวในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และทำไม แต่ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตแบบอเมริกันได้อย่างแท้จริงกลับเป็นชายที่เพิ่งถูกบิลเล่นงาน พวกเขาอยู่ในเขตเซาท์บรองซ์ คนละฝั่งแม่น้ำ ไม่มีปริญญาวารสารศาสตร์ ไม่มีเงินทองและความน่าเชื่อถือ มีแต่สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์
ตอนหัวค่ำของคืนนั้น ใครคนหนึ่งวางแผ่นเสียงลงบนจาน เพื่อนๆของผมลงไปเต้นกันกระจาย ส่งเสียงตะโกนอย่างมีความสุข ทำเอาคอแจ๊สอย่างผมขนลุก เสียงเพลงที่เปิดอย่างกับแผ่นเสียงตกร่อง เป็นการนำเพลงฮิตเก่ากึกชื่อ "กู๊ดไทมส์" มาร้องใหม่ ดนตรีสี่ห้องเล่นวนไปวนมาครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีไอ้หนุ่มที่ไหนไม่รู้โพล่งกลอนว่าเขาเป็นดีเจที่เก่งที่สุดในโลกอย่างนั้นอย่างนี้กลบเสียงดนตรีอีก นี่คือเพลง "แร็ปเปอร์สดีไลต์" (Rapper's Delight) ซึ่งผมว่าเป็นชื่อที่น่าหัวร่อที่สุดเท่าที่เคยได้ยิน ยิ่งกว่าการที่บิลตบชายแปลกหน้าคนนั้นเสียอีก
บิลรอดพ้นเหตุการณ์คืนนั้นไปได้ แต่ถ้ามองในแง่มุมต่างๆแล้วผมต่างหากที่ไปไม่รอด ตลอด 26 ปีต่อมา ผมทำหูทวนลมกับดนตรีนั้นเหมือนเวลาเราก้าวข้ามรอยแตกบนทางเท้า แม้จะได้ยินเสียงดังลอดจากรถและตรอกซอกซอยในปารีสไปถึงอะบิดจัน ผมก็ไม่สนใจฟัง แม้เสียงเพลงจะดังกระหึ่มจากลำโพงในโจฮันเนสเบิร์กไปถึงโอซากา ผมก็แสร้งไม่ได้ยิน ผมคงเดินผ่านมุมถนนเซนต์เจมส์เพลสตัดกับถนนฟูลตันในบรูกลินบ้านเกิดขณะที่คริสโตเฟอร์ วอลเลซ เด็กอ้วนเจ้าของฉายา บิกกี สมอลส์ ยืนด้นกลอนสดสร้างความบันเทิงให้เพื่อนฟังนับร้อยครั้ง ไปโดยไม่แยแส ผมมองข้ามดนตรีฮิปฮอปถึง 26 ปี เพราะมันเป็นทุกอย่างที่ผมคิด และเป็นยิ่งกว่านั้นมากนัก แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่ผมต้องการทิ้งไว้เบื้องหลัง
ด้วยเหตุนั้นเอง ผมจึงพลาดปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตไป
นับตั้งแต่เกิดดนตรีแจ๊สสวิงในทศวรรษ 1930 ไม่มีครั้งไหนที่ดนตรีอเมริกันจะส่งพลังไปทั่วโลกได้เท่าครั้งนี้ และนับตั้งแต่เดอะบีเทิลส์บุกอเมริกา และเอลวิสสวมรองเท้าหนังกลับสีฟ้าออกเล่นคอนเสิร์ต คงไม่มีครั้งใดที่ดนตรีจะขบถเท่าครั้งนี้ วัฒนธรรมแห่งการต่อต้านที่แฝงอยู่ในบทเพลง การพ่นสีตามกำแพงที่เรียกว่ากราฟฟิตี และการเต้น ซึ่งเรียกรวมๆว่าฮิปฮอป ได้ฉีกกระชากเพลงฮิตรูปแบบเดิมในทุกหนแห่งที่เข้าถึง เพลงแร็ปในบราซิลโด่งดังสูสีกับดนตรีแซมบ้า วัยรุ่นจีนพ่นศิลปะกราฟฟิตีบนกำแพงเมืองจีน ขณะที่ฝรั่งเศสกล่าวโทษวัฒนธรรมฮิปฮอปอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นต้นเหตุของความไม่สงบที่เกิดขึ้นหลายสิบปีในประเทศ
โครงสร้างของฮิปฮอปนั้นมีเอกลักษณ์ ซับซ้อน และบางครั้งก็สับสน เอาฮิปฮอปไปจับดนตรีแนวไหน ดนตรีนั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของฮิปฮอป และเมื่อวงการโฆษณาตามติดเข้ามาขอมีเอี่ยวในกำไรก้อนโตจากความนิยมที่ทวีขึ้น ฮิปฮอปก็กลายเป็นกระแสนิยมอันทรงพลัง แนวดนตรีที่ไม่อาจนิยามได้นี้ช่วยให้คำจำกัดความกับสังคมปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง แม้จะมีคนใช้ประโยชน์ ดูถูก หยุดยั้ง จัดกลุ่ม และวิเคราะห์วิจารณ์ แต่สำหรับคนรุ่นผมหลายคน ฮิปฮอปยังเป็นปริศนาที่ชวนฉงน เป็นเสียงอันเร่งร้อนที่ประกาศก้องถึง "สิ่งที่เราเป็น" ของวัยรุ่นทั่วโลก ทำให้ผมคิดว่า ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มหันมาใส่ใจฮิปฮอปแล้ว
เปลวไฟที่ไหม้ลาม
ลองนึกภาพคนถูกไฟคลอกวิ่งเข้าห้องมา เราดับไฟให้ แล้วอีกคนก็วิ่งตามมา เราดับไฟให้อีก แต่กลับมีคนที่สาม สี่ ห้า ไปจนถึงสิบ วิ่งเข้ามา เราช่วยดับไฟและพาพวกเขาส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครสนใจสืบหาสาเหตุของต้นเพลิง เหตุการณ์สมมุตินี้ไม่ต่างจากกระแสดนตรีฮิปฮอปที่เกิดขึ้น
ฮิปฮอปเป็นดนตรีที่หล่อมาจากเบ้าหลอมแห่งสีผิวและวรรณะ จึงอาจถูกพวกบ้าลัทธิ สิบแปดมงกุฎ นักวิชาการจอมปลอม พวกเหยียดผิว และคนขายรองเท้าผ้าใบ ทำให้หมองมัว ทุกคนบอกว่าตัวเองเจ๋ง แจ๋ว และเป็น "ของจริง" ขณะที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสีผิวเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา สถานที่ เหตุการณ์ และคนเล่า เรื่องจริงก็คือ ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 นิวยอร์กซิตีอยู่ในภาวะเกือบล้มละลาย โรงเรียนของรัฐถูกตัดงบประมาณด้านศิลปะอย่างมาก การเดินเข้าห้องดนตรีเพื่อเช่าแคลริเน็ตราคาถูกกลับไปซ้อมเป่าที่บ้านให้พ่อแม่ประสาทเสียไม่มีอีกแล้ว
เด็กในเขตเซาท์บรองซ์และฮาร์เลมจึงหาอย่างอื่นทำ ในฤดูร้อนปี 1973 ณ บ้านเลขที่ 1595 ถนนอีสต์ 174 ในชุมชนการเคหะริเวอร์บรองซ์ วัยรุ่นผิวดำชื่อแอฟริคา บัมบาตา ได้ต่อลำโพงริมหน้าต่างในห้องนั่งเล่นชั้นล่างของแม่เข้ากับเครื่องเล่นแผ่นเสียงในห้องนอนของตน เพื่อเปิดเพลงให้ชาวชุมคนเคหะ 3,000 คนได้สนุกกัน ขณะที่วัยรุ่นจาเมกาชื่อคูล ดีเจ เฮิร์ก ก็เริ่มทำแบบเดียวกันในเขตอีสต์บรองซ์ โดยมีอัจฉริยะทางเทคนิคชื่อแกรนด์มาสเตอร์ แฟลช กำลังโด่งดังห่างออกไปทางใต้ไม่กี่กิโลเมตร บรองซ์กลายเป็นแม่เหล็กทางดนตรีที่ดึงดูดชาวเปอร์โตริโก จาเมกา โดมินิกัน และชาวอเมริกันผิวดำในย่านใกล้เคียง แฟ็บไฟว์เฟรดดี, เคอร์ติส โบลว์ และแมลล์ เมล คือตัวอย่างผู้บุกเบิกไม่กี่คน นอกจากนี้ ยังมีแกรนด์ วิซาร์ด ทีโอดอร์, คูล ดีเจ เอเจ, เดอะโคลด์ครัชบราเทอร์ส, สปูนนี จี และกลุ่มนักเต้นบี-บอยส์อย่างเดอะร็อกสเตดีครูว์ ออกมา "ประลอง" ท่าเต้น พวกเขาผลัดกันลับฝีปากและด้นเนื้อ แลกกันดูแผ่นเสียงและเครื่องมือของอีกฝ่าย โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ได้สร้างประวัติศาสตร์ทางดนตรีขึ้นนับตั้งแต่ก้าวผ่านประตูศูนย์ชุมชนใกล้อพาร์ตเมนต์ของแม่บัมบาตา ในกลุ่มนี้มีเอ็มซีคนหนึ่งชื่อเลิฟบัก สตาร์สกี ที่ว่ากันว่าชอบพูดคำว่า "ฮิปฮอป" ต่อท้ายท่อนเพลงเพื่อรักษาจังหวะ
วิถีของฮิปฮอปเริ่มต้นดังนี้ ดีเจคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชายเสมอ จะเล่นแผ่นเสียงบนเครื่องเล่นสองเครื่อง โดยมีเอ็มซีหรือผู้ดำเนินรายการ (Master of Ceremonies) ซึ่งจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้อีกหนึ่งคน ดีเจจะ"สแกรตช์" หรือเลื่อนแผ่นเสียงกลับไปกลับมาใต้หัวเข็มให้เกิดเสียง และวางเข็มลงบนแผ่นเสียงท่อนที่จังหวะร้อนแรงที่สุด เพื่อเล่น "เบรก" ซ้ำไปซ้ำมาให้คนเต้นรำ ขณะที่เอ็มซีจะ "แร็ป" คลอเพื่อสร้างสีสัน โดยเอ็มซีแต่ละคนจะหาวิธีและลีลาด้นสดให้ดีกว่าคนอื่น รูปแบบการเต้นนั้นมีสามท่าหลัก คือ "ล็อก" "ป๊อป" และ "เบรก" ส่วนศิลปินกราฟฟิติเป็นผู้ทำให้คำว่า "ไอ" แพร่หลาย เพราะเพลงฮิปฮอปเป็นเพลงเกี่ยวกับตัวตน เช่น ข้า (I) เยี่ยมที่สุด คนในบรองซ์ ฮาร์เลม และควีนส์ รักข้ามากที่สุด ในตอนแรกๆ ความสนใจของฮิปฮอปไม่ได้อยู่ที่เอ็มซี แต่อยู่ที่นักเต้นหรือบี-บอยส์ คลื่นวิทยุที่ทำธุรกิจเพลงตามกระแสจึงไม่สนใจดนตรีแร็ป เหล่าดีเจต้องเปิดท้ายขายเทปที่ทำเอง เพลง "แร็ปเปอร์สดีไลต์" ของวงชูการ์ฮิลแก๊ง ที่ผมได้ยินครั้งแรกในงานเลี้ยงที่ฮาร์เลมเป็นเพลงแร็ปแรกๆที่เริ่มเปิดทางวิทยุในปี 1979
นี่คือประวัติโดยย่อของฮิปฮอป
แต่หากจะว่ากันโดยละเอียดแล้ว ดนตรีแห่งเสียงพูดลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงสหรัฐอเมริกาพร้อมทาสจากแอฟริกาตะวันตกเมื่อหลายร้อยปีก่อน นักดนตรีชาติพันธุ์วิทยา (Ethnomusicologist) สืบหาต้นตอของฮิปฮอปจากการเต้นรำ ดนตรี และบทเพลงของกรีโยต์ (griot) หรือกวีพื้นบ้านแห่งแอฟริกาตะวันตก รวมไปถึงการจับคู่คำ และดนตรีที่บอกเล่าการเดินทางอันทุกข์ทรมานของทาสผู้รอดชีวิตจากการเดินทางมาสู่ทวีปอเมริกา การล้อมวงเต้นรำ การโห่ร้องกลางทุ่ง และเพลงศาสนาของทาสยุคแรก มีองค์ประกอบพื้นฐานคล้ายดนตรีแอฟริกา เช่น การร้องเรียก การขานรับ และการด้นสด "เพลงพูดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชนผิวดำมานานมากแล้วครับ" ซามูเอล เอ. ฟลอยด์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดนตรีคนผิวดำแห่งวิทยาลัยโคลัมเบียในชิคาโก กล่าว "โดซึน" (dozens) "โทสต์" (toast) และ "ซิกนิฟายอิง" (signifying) ของชาวอเมริกันผิวดำ ซึ่งก็คือการดูถูกตัวเองด้วยการดวลคำพูดและด้นกลอนสด รวมไปถึงเรื่องราวที่คนผิวสีเอาชนะคนผิวขาว ถือเป็นกลยุทธ์ในการต่อต้านและปลุกใจ
โครงสร้างของดนตรีแร็ปแฝงอยู่ในงานของนักดนตรีแจ๊สหลายคน ไม่ว่าจะเป็นออสการ์ บราวน์ จูเนียร์, เอ็ดการ์ "เอ็ดดี" เจฟเฟอร์สัน และหลุยส์ อาร์มสตรอง หรือแม้แต่ยอดนักดนตรีบลูส์อย่างจอห์น ลี ฮูเกอร์ เห็นได้จากการเล่นคำในเนื้อเพลง และการที่ศิลปินผิวดำ เช่น กวีอย่างนิกกี โจวันนี นักร้องและนักเปียโนอย่างกิล สกอต-เฮรอน นำเนื้อหาทางการเมืองมาใส่ในเพลง (ผลงานเพลงที่โด่งดังที่สุดคือ "The Revolution Will Not Be Televised") ก็ถือเป็นการยกระดับเพลงพูดไปอีกขั้นหนึ่ง
แต่ศิลปินที่มีผลงานอันเป็นรากฐานของดนตรีแร็ปในปัจจุบันอย่างเด่นชัดก็คือ อามิริ บารากา หนึ่งในกวีกลุ่มบีตโพเอต (Beat Poet) แห่งกรีนิชวิลเลจที่มีแอลเลน กินส์เบิร์ก เป็นผู้นำ ในปลายทศวรรษ 1950 และ 1960 บารากาอ่านบทกวีโดยใช้การกรีดร้อง คำราม ตะโกน และกระทืบเท้าประกอบ เขาจะอ่านบทกวีผิดจังหวะ ถ้าไม่เร็วกว่า ก็ช้ากว่า หรือไม่ก็กระตุกและขาดตอน ผู้แสดงสวมชุดพื้นเมืองแอฟริกาที่เรียกว่าดาชิกิ (dashiki) ไว้ผมทรงแอโฟร และแสดงความโกรธเกรี้ยวอันแข็งกร้าว หรือความเป็นนักชาตินิยมผิวสีจนน่าหวาดหวั่น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกลุ่มศิลปินที่อาจถือเป็นวงแร็ปวงแรก นั่นคือเดอะลาสต์โพเอตส์
อ่านเรื่องราวทั้งหมดอย่างจุใจได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
โดย: Cruel Pistol เวลา: 12-5-2008 22:14 ชื่อกระทู้: Cruel Pistol
โอ้ววว รีดเดอร์ ไดเจสต์ ๆ อ่านที่ห้องแมวไฟ
โดย: ~CirkriT~ เวลา: 12-5-2008 22:21
HipHop ครองโลก เยี่ยยยยๆ:victory:
โดย: Twin-S เวลา: 13-5-2008 23:00
โอ้เย้ดดด
อยากให้ผู้ใหญ่ได้อ่านจัง
ก่อนที่เค้าจะตัดสินพวกเรา
555555555+
ยิ่งใหญ่นะเว่ยเห้ย :lol
ฮิพฮอพดึงคนได้มากมายขนาดนี้
งั้นพวกนักการเมืองหาคะแนนเสียง
ต้องใช้กลวิธีแบบฮิพฮอพ อ่อเยี่ยยยย
โดย: Slipknik เวลา: 14-5-2008 10:57
ผมอยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจคำว่ากราฟฟิตี้ด้วยครับ
หลายคนหาว่ากราฟฟิตี้เป็นพวกเด็กมีปัญหาครับ
โดย: Phantom เวลา: 20-5-2008 12:39
ขอให้เป็นเช่นนี้นานๆ
โดย: TJ' เวลา: 20-5-2008 17:08
เรทโทรเรื้อนครอง ประเทศไทย 55++ แต่hiphopครองโลก งิงิ น่าพูมจายยย
โดย: S.Chiva เวลา: 21-5-2008 02:00
เรื่องจิงไม่อิงนิยาย..
โดย: PTK_Boyz เวลา: 29-5-2008 11:00
อันนคัดมาจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกใช่ป่าว
โดย: P.Crazed เวลา: 1-12-2008 22:02
ผมเคยอ่านนะคับ เรื่องนี้ เหงมีทำเป็นหนังสือด้วย
...................
โดย: casinosoda เวลา: 27-3-2009 17:33
ครองโลกกกกก
ยินดีต้อนรับสู่ SMING.ORG (http://sming.org/) |
Powered by Discuz! 6.0.0 |